อ่านหนังสืออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้มีเวลาอ่านน้อย
สวัสดีครับวันนี้ผมได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทความเรื่อง “อ่านหนังสืออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้มีเวลาอ่านน้อย” จากเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ผมหยิบสมุดโน๊ตขึ้นมาเขียนหัวข้อที่ผมได้มาจากเพื่อน พร้อมทั้งเปิดโน๊ตบุ๊คขึ้นมาเพื่อค้นหาข้อมูลในหัวข้อ “อ่านหนังสืออย่างไรให้มีประสิทธิภาพ” ซึ่งมีผู้เขียนบทความเกี่ยวกับหัวข้อนี้เยอะมาก ผมได้เปิดอ่าน 3-4 บทความ แต่ละบทความก็จะมีลักษณะหรือวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เพราะทำให้ผู้ที่ได้เข้ามาอ่านบทความได้เลือกไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง และทางเว็บไซต์ wuttichaiteacher ก็มี “10 วิธีการอ่านหนังสือให้มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย”
“10 วิธีการอ่านหนังสือให้มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย”
- การแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ
สำหรับหัวข้อแรกผมให้มันเป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดของบทความนี้เลยก็คือการแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ ผู้อ่านจะต้องมีตารางเวลาเป็นของตัวเองพยายามจัดการกับเวลาในหนึ่งวันของตัวเองว่าทำอะไรบ้าง มีเวลาเหลือจากการทำกิจกรรมคือเวลาไหนบ้าง ข้อมูลพวกนี้ผู้อ่านจะต้องทราบ จากนั้นมาวางแผนว่าหนังสือ 1 เล่มจะใช้เวลาในการอ่านกี่วันและอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่ออะไร หากอ่านเพื่อสอบเข้าทำงานก็จะต้องกำหนดวันที่ที่จะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบ ข้อห้ามคือหากผู้อ่านทำงานประจำ ห้ามใช้เวลาในการทำงานมาอ่านหนังสือถึงแม้ผู้อ่านจะมีโอกาส
- ใครว่าหน้าสารบัญไม่สำคัญ
ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนจะเปิดอ่านสารบัญก็ตอนที่ยืนเลือกซื้อหนังสือหรือตอนเปิดดูว่าเนื้อหาในเล่มมีเนื้อหาอะไรบ้าง แต่ความพิเศษของหน้าสารบัญคือมันเป็นการรวมคำสำคัญไว้ การที่จะอ่านหนังสือให้เข้าใจและจดจำได้ดีเราจะต้องจำหัวข้อหลัก ๆ ของมันให้ได้ ซึ่งแน่นอนเราจะต้องจำหัวข้อพวกนี้ให้ได้เพื่อที่จะแตกย่อยไปยังเนื้อหาย่อย ๆ ต่อไป
- อ่านหนังสือในรอบแรกอย่างช้า ๆ
หัวข้อนี้ผมให้เป็นหัวข้อที่สำคัญรองลงมาจากหัวข้อแรก ในการอ่านหนังสือนั้น ผมเคยเจอปัญหาจากตัวของผมเองคือผมอ่านหนังสือแบบเร็วมากในระหว่างอ่านผมก็อ่านตามหนังสือโดยไม่ได้หยุดคิด วิเคราะห์ ในประโยคที่ผมอ่านอยู่ขณะนั้นเลย ผลที่ได้คือสมองไม่ได้จดจำเนื้อหาที่ผมอ่าน ซึ่งผมทำแบบนี้บ่อยมากจนผมมาฉุดคิดขึ้นได้ว่า “ผมลองเปลี่ยนมาอ่านแบบช้า ๆ ดูไหม” และลองเปรียบเทียบดูว่าผลที่ได้ มันมีความแตกต่างกันอย่างไร ก็แน่นอนครับการอ่านแบบช้า ๆ ส่งผลให้สมองจดจำได้ดีกว่าการอ่านแบบรวดเร็ว ในรอบแรกเราจะใช้เวลาในการอ่านเยอะหน่อยแต่ในรอบต่อ ๆ ไปเราจะใช้เวลาในการอ่านที่เร็วขึ้น
- อ่านเป็นบท ๆ ไป
ในการอ่านหนังสือให้อ่านที่ละบท เมื่ออ่านจบบทแล้วให้นึกถึงหน้าสารบัญ และพยายามจำหัวข้อหลักให้ได้ จากนั้นจำให้ได้ว่ามีหัวข้ออะไรบ้างที่เป็นหัวข้อย่อย เมื่อจำหัวข้อย่อยได้แล้วให้ทำความเข้าใจกับเนื้อหาของหัวข้อย่อยนั้น ๆ หาคำสำคัญให้ได้และก็ต้องจำมันให้ได้ที่สำคัญเลยผู้อ่านต้องอ่านให้เข้าใจ หากหนังสือที่ผู้อ่านอ่านอยู่นั้นมีเนื้อหากำกวน อ่านไม่เข้าใจสักที ผมแนะนำว่าให้หาหนังสือสำนักอื่นมาอ่านแทน
- สรุปเนื้อหาใส่สมุดโน๊ต
ในหัวข้อนี้ตัวผมเองจะเขียนสรุปลงสมุดโน๊ตก็ต่อเมื่อผมได้อ่านเนื้อหาในบทนั้นเข้าใจดีแล้ว ผมใช้วิธีการเขียนหัวข้อหลักลงไป และตามด้วยหัวข้อย่อย จากนั้นก็เขียนสรุปลงไปตามหัวข้อย่อย เขียนคำสำคัญลงไว้ พยายามเขียนให้เป็นหัวข้อ ๆ ไป และอย่าเอาเนื้อหาบทอื่นมาเขียนรวมไว้กับบทที่เรากำลังจะสรุป
- อ่านออกเสียงหรือจะอ่านในใจ
หัวข้อนี้ผมเขียนไปยิ้มไปซึ่งในการอ่านหนังสือของผม ผมจะอ่านและจำได้ดีก็ต่อเมื่อผมได้อ่านออกเสียงเบา ๆ ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกันนะครับ แต่ในที่นี้ผมจะนำเสนอโดยยึดตัวของผมเอง ผมจะชอบอ่านออกเสียงเบา ๆ ช่วงที่ผมอ่านช่วงแรกผมจะอายคนในครอบครัวผมมาก เนื่องจากเวลาที่ผมอ่านหนังสือหลัก ๆ แล้วคือช่วงกลางคืนที่คนนอนหลับ บรรยากาศจะเงียบมากและก็จะมีเสียงผมอ่านหนังสือเบา ๆ 555
- ขนมและน้ำดื่ม
ในการอ่านหนังสือนั้นมันเหนื่อยมากนะ เครียดก็เครียดสิ่งที่ช่วยได้ดีที่สุดนอกจากการโยนหนังสือทิ้งแล้วล้มตัวลงนอนก็คือการพักกินขนมและดื่มน้ำ สมองของคนเราต้องการพลังงานเราจึงจำเป็นจะต้องพยายามหาของกินเล่นกินไปด้วยอ่านไปด้วย เลือกใช้โคมไฟดี ๆ หน่อย จะช่วยในเรื่องของการรักษาสายตา ทำให้เราอ่านหนังสือได้นานขึ้น
- อ่านสรุปที่จดมาในเวลาเข้าห้องน้ำ
สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยหัวข้อนี้สำคัญมาก ๆ ซึ่งการเข้าห้องน้ำเราจะใช้เวลา 5-10 นาที และเราจะรู้สึกมีความสุขมาก ๆ ในตอนที่เราอยู่ในห้องน้ำ และในเวลานี้หากเราได้อ่านสรุปที่เราโน๊ตไว้ก็จะเป็นการได้ทบทวนเนื้อหา
- ออกกำลังกายและฟังเสียงที่เราบันทึก
ที่จริงผมไม่อยากเอาหัวข้อนี้มาใส่ในบทความผมเลย เพราะว่าในหลาย ๆ บทความคนส่วนใหญ่มักเอาหัวข้อนี้มาเขียน แต่ที่ผมเอามาใส่ในบทความเพราะว่าการที่เรามีร่างกายที่แข็งแรงนั้นย่อมส่งผลดีต่อระบบความจำ ผมใช้วิธีการออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยานทุก ๆ วันในช่วงเย็น ก็ปั่นจักรยานไปด้วย เสียบหูฟัง ฟังเสียงที่ตัวเองอัดไว้
- ช่วงเวลาที่อ่านหนังสือหากง่วงนอนห้ามนอนเด็ดขาด
มาถึงหัวข้อสุดท้ายแล้วจากหัวข้อแรกผู้อ่านจะได้ตารางการอ่านหนังสือของตนเอง ดังนั้นในช่วงแรกที่เราพยายามที่จะอ่านหนังสือตามตารางเวลาของเรานั้น ปัญหาที่พบคือร่างกายปรับไม่ทันส่งผลให้ผู้อ่านจะรู้สึกง่วงนอนมาก ๆ “ผมเข้าใจความรู้สึกนี้มาก ๆ คือมันเป็นอะไรที่ทรมานที่สุดแล้ว” หลาย ๆ คนจึงตัดสินใจนอน จากนั้นก็ค่อยตื่นมาอ่าน คือเป็นวิธีที่ผิดมาก ๆ ห้ามทำเด็ดขาด วิธีการแก้ปัญหาคือให้ผู้อ่านอดทน คือต้องอดทนเท่านั้น ทำยังไงก็ได้ห้ามให้ตัวเองหลับ จะใช้เวลาปรับตัวประมาณ 3-4 วัน จากนั้นร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัว และเราจะไม่รู้สึกง่วงนอนเมื่อถึงเวลาในกาารอ่านหนังสือตามตาราง
“10 วิธีการอ่านหนังสือให้มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย” จาก 10 ข้อที่กล่าวไปข้างตนผมเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ของตัวเองทั้งหมด ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้อ่านลองนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองดูนะครับ